V4MF
ข่าวสาร

Languages

การประชุมแนะนำโครงการ "Voices for Mekong Forests"

RECOFTC News

ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่าเเละองค์กรร่วมดำเนินงานเปิดตัวโครงการ Voices for Mekong Forests พลังเสียงเพื่อป่าไม้แห่งลุ่มน้ำโขง ในประเทศไทย เพื่อยกระดับการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการติดตามธรรมาภิบาลป่าไม้ภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

กรุงเทพฯ — 22 มิถุนายน 2560 — ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC) ร่วมกับองค์กรร่วมดำเนินงาน ได้แก่ มูลนิธิรักษ์ไทย (Raks Thai Foundation) และกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) เปิดตัวโครงการ “ Voices for Mekong Forests” พลังเสียงเพื่อป่าไม้แห่งลุ่มน้ำโขง เพื่อเสริมศักยภาพและยกระดับภาคประชาสังคมให้สามารถติดตามและตรวจสอบธรรมาภิบาลป่าไม้ใน 3 พื้นที่รอยเชื่อมต่อพรมแดนใน 5 ประเทศภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ผ่านการใช้กลไกการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ธรรมาภิบาลและการค้า– ข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ หรือ เฟล็กที-วีพีเอและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า (เรดด์พลัส)  เพื่อนำไปสู่การลดการทำไม้ผิดกฎหมายและการเสื่อมโทรมของพื้นที่ป่าในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

โครงการ “ Voices for Mekong Forest ” พลังเสียงเพื่อป่าไม้เเห่งลุ่มน้ำโขง ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป ครอบคลุมพื้นที่ภูมิทัศน์ป่าไม้ในแนวเชื่อมต่อพรมแดนระหว่างประเทศ 3 พื้นที่ ใน 5 ประเทศ   ที่ดำเนินงาน  ซึ่งในประเทศไทยจะครอบคลุมพื้นที่ภูมิทัศน์ป่าไม้ในแนวพรมแดนภาคเหนือไทย-ลาวบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคาของประเทศไทย ที่เชื่อมต่อกับพื้นที่คุ้มครองแห่งชาติ ในแขวงบ่อแก้ว และแขวงไซยะบุรีของประเทศลาว

งานเปิดตัวโครงการยังประกอบการปาฐกถาพิเศษเรื่องธรรมาภิบาลในมุมมองของภาครัฐวิชาการและชุมชน และการเสวนา “ ธรรมาภิบาลป่าไม้ไทย  จะตรวจสอบได้อย่างไร ”  ซึ่งมีตัวแทนจากกรมป่าไม้ กรมอุทยานเเห่งชาติ สัตว์ป่า เเละพันธุ์พืช สถาบันวิทยาการอวกาศและภูมิสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เเละหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ที่่ร่วมเเลกเปลี่ยนประเด็นกับผู้ร่วมงานกว่า 70 คนว่าประเทศไทยจะสามารถเกิดกลไกในการตรวจสอบเพื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลป่าไม้ได้อย่างไร

 

                     

 

คุณเจนนี่ ลุนมาร์ก ตัวแทนคณะผู้แทนสหภาพยุโรป ประจำประเทศไทย กล่าวถึงการสนับสนุนของสหภาพยุโรปแก่โครงการ “ Voices for Mekong ”

“สหภาพยุโรปมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ให้การสนับสนุนโครงการนี้ เพราะสหภาพยุโรปเล็งเห็นว่าป่าชุมชนเเละทำให้การจัดการป่าไม้มีธรรมภิบาลป่าไม้ที่ดีขึ้นนั้นจะสามารถนำไปสู่การขจัดความยากจนเเละสร้างสิ่งเเวดล้อมที่ยั่งยืน  โดยสหภาพยุโรปเห็นว่าโครงการนี้จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รวมถึงนำไปสู่การลดความยากจน ที่เป็นผลจากการปรับปรุงระบบจัดการป่าไม้ให้มีธรรมภิบาลที่ดีขึ้น ซึ่งถือเป็นการเตรียมรากฐานที่จะนำไปสู่ระบบการค้าไม้ที่ถูกกฎหมายของประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเเละสหภาพยุโรปในท้ายที่สุด นอกจากนี้สหภาพยุโรปยังมุ่งหวังให้การสนับสนุนนี้นำไปสู่การสร้างความเข้มเเข็งของภาคประชาสังคมเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนางานด้านป่าชุมชนเเละพัฒนาสิ่งเเวดล้อมที่ยั่งยืนของภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ”      

ในขณะที่คุณวรางคณา รัตนรัตน์ ผู้ประสานงานแผนงานประเทศไทย ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่ากล่าวว่าการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการออกแบบกระบวนการเฟล็กทีและและเรดด์พลัสเป็นหัวใจสำคัญในการตรวจสอบ เเละติดตามกระบวนการสร้างงธรรมภิบาลป่าไม้

“ในปัจจุบันข้อท้าทายประการหนึ่งในการสร้างธรรมาภิบาลป่าไม้คือการขาดตัวแทนของภาคประชาสังคมในกระบวนการกำหนดนโยบาย รวมถึงการที่กลุ่มประชาสังคมยังไม่สามารถนำเสนอข้อมูลที่สนับสนุนความต้องการ และรวมพลังเพื่อแสดงบทบาทในการต่อรองในกระบวนการกำหนดนโยบายได้ ข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้เสียงของประชาสังคมไม่ได้ถูกสะท้อนเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหานโยบายป่าไม้ ดังนั้นโครงการนี้จึงมีเป้าหมายเพื่อที่จะยกระดับการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม เพื่อทำให้ประชาสังคมสามารถเข้ามามีส่วนส่วนร่วมในการร่วมในกำหนดการจัดการป่าไม้ที่มีธรรมาภิบาลผ่านกลไกหลักคือเฟล็กทีและเรดดส์พลัสเพื่อนำไปสู่การสร้างความร่วมมือของของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาป่าไม้ที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ”  

 


ภาพหมู่ของผู้เข้าร่วมงาน

 

ข้อมูลเพิ่มเติม 

https://www.recoftc.org/project/voices-mekong-forests

https://www.recoftc.org/news-and-features/voices-mekong-forests-project-...

 

หมายเหตุ

เฟล็กที

เฟล็กที หรือ Forest Law Enforcement, Governance and Trade (FLEGT) คือ การบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาลและการค้า เพื่อลดปัญหาการทำไม้และการค้าผลิตภัณฑ์ไม้ที่ผิดกฎหมายโดยสร้างการจัดการป่าไม้ที่ยั่งยืน การปรับปรุงให้มีธรรมาภิบาลและสนับสนุนการค้าไม้ที่ถูกกฎหมาย  โดยประเทศไทยได้เข้าสู่กระบวนการเจรจาข้อตกลงเฟล็กที วีพีเอกับสหภาพยุโรปในปี 2556 

เรดดส์พลัส

เรดดส์พลัส หรือ Reducing Emission from Deforestation and Forest Degradation in Developing Countries หมายถึง นโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCC)

 สำหรับประเทศไทย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับงบประมาณ 200,000 เหรียญสหรัฐจากกองทุนหุ้นส่วนความร่วมมือด้านคาร์บอนป่าไม้ (Forest Carbon Partnership Facility) โดยมีธนาคารโลกเป็นผู้บริหารกองทุน ซึ่งได้มีการจ้างคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดทำข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัสสำหรับประเทศไทย (Thailand Readiness Preparation Proposal : R-PP) ในการเสนอต่อกองทุน FCPF ในเดือนธันวาคม 2555 เพื่อขอรับการสนับสนุนงบจากกองทุน FCPF สำหรับดำเนินกิจกรรมเตรียมความพร้อม การเสริมศักยภาพ การกำหนดมาตรการสำหรับกิจกรรมเรดด์พลัส